EP.3 ข้อดีของการเลี้ยง ห่าน สัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ และ สร้างอาชีพ ตอนที่ 3 | เลี้ยงห่านสร้างรายได้



รับชมคลิปวีดีโอแนะนำการเลี้ยงห่านทั้งสามตอนได้ที่นี่  ตอนที่1 | ตอนที่2 | ตอนที่3


การดูเพศห่าน
ในลูกห่านเราสามารถตรวจดูเพศของห่านได้โดย
1- ปลิ้นก้นดู ซึ่งเหมือนกับวิธีดูเพศลูกเป็ด วิธีนี้สามารถดูเพศลูกห่านได้เมืออายุ 1-2 วัน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดเหนือถวารด้านบนแล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดปลิ้นทวาร ถ้าเป็นลูกห่านตัวผู้จะเห็นเป็นเดือยเล็กๆคล้ายๆกับเข็มหมุดโผล่ออกมา ส่วนตัวเมียเมื่อปลิ้นก้นดูไม่มีเดือยเล็กๆโผล่ออกมา
2- ดูปีก เมื่อลูกห่านอายุประมาณ 3-4 วัน จะสังเกตุได้โดยดูปมที่ข้อศอกด้านในปีก ถ้าเป็นห่านตัวผู้ปมจะใหญ่ มีสีดำ ลักษณะยาวรี ไม่มีขนปกคลุม มีขนาดเท่าปลายดินสอมองเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นลูกห่านตัวเมียจะไม่มีปมดังกล่าว หรือถ้ามีขนาดจะเล็กมาก และมีขนปกคลุมจนมองไม่เห็น
3- ดูสีขน วิธีนี้ใช้ดูในห่านสายพันธุ์พิลกริม และสายพันธุ์เอมเดนเท่านั้นคือ ลูกห่านสายพันธุ์พิลกริมตัวผู้จะมีสีครามอ่อนๆ เกือบขาวแต่ลูกห่านตัวเมียจะมีสีเท่า ส่วนลูกห่านสายพันธุ์เอมเดนตัวผู้จะมีสีขาวมากปนกับสีเท่าอ่อนเพียงเล็กน้อย ส่วนตัวเมียจะมีสีเทามากปนสีขาวเพียงเล็กน้อย

เมื่อลูกห่านโตแล้วจนเป็นห่านรุ่นขึ้นไป จะสังเกตลักษณะเพศโดย
1- วิธีดูอวัยวะเพศ โดยจับห่านวางบนโต๊ะหรือวางบนโคนขาของผู้จับ ให้หางห่านชี้ออกไปจากตัวผู้จับห่าน แล้วใช้นิ้วชี้ทาวาสลีนสอดเข้าไปในรูทวาร ลึกประมาณครึ่งนิ้ว วนรอบๆทวารหลายๆครั้ง หลังจากนั้นค่อยๆกดด้านล่างหรือด้านข้างของทวาร หากเป็นตัวผู้อวัยวะเพศซึ่งมีลักษณะคล้ายเกี่ลยวเปิดจุกก๊อกจะโผล่ออกมาให้เห็น
2- วิธีฟังเสียง ให้ห่านที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ห่านตัวผู้จะมีเสียงแหลม ส่วนตัวเมียจะมีเสียงแหบต่ำ
3- วิธีดูลักษณะรูปร่าง ในห่านอายุเท่ากัน ห่านตัวผู้จะสังเกตได้จากลักษณะรูปร่าง ซึ่งมีลำตัวยาวกว่า คอยาวกว่า และหนากว่า อีกทั้งขนาดตัวใหญ่กว่า

การจัดการและการเลี้ยงดูลูกห่าน
หากอากาศไม่หนาวเย็นหรือในระหว่างหน้าร้อน การกกลูกห่านจะกกเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น ซึ่งกกประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากใช้แม่ไก่ หรือแม่ห่านกกซึ่งเป็นการกกแบบธรรมชาติ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แม่ไก่หนึ่งตัวจะกกลูกห่านได้ประมาณ 4-5 ตัว ส่วนแม่ห่านจะกกลูกห่านได้ประมาณ 7-8 ตัว หากมีลูกห่านเกิดใหม่จำนวนมาก ก็ควรใช้กกแบบวิทยาศาสตร์ คือ
 1- ตะเกียง การใช้ตะเกียงกก ตะเกียงหนึ่งดวงจะใช้กกลูกห่านได้ประมาณ 15-35 ตัว ควรใช้สังกะสีทำเป็นวงล้อมกันมิให้ลูกห่านถูกตะเกียง และมีวงล้อมด้านนอกกั้นไม่ไห้ลูกห่านออกไปไกลจากตะเกียงมาก เพราะต้องให้ห่านได้ความร้อนจากตะเกียง
2- เครื่องกก ซึ่งอาจจะใช้ไฟฟ้าหรือใช้แก๊สก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ไฟฟ้า อาจจะเป็นลักษณะเป็นกรงกก หรือลักษณะแบบฝาชีก็ได้ กรงกกขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ใช้กกลูกห่านได้ประมาณ 50-75 ตัว ถ้าเป็นแบบเครื่องกกฝาชี ซึ่งกกลูกไก่ได้ 500 ตัว ก็จะใช้กกลูกห่านได้ 250 ตัว
ในการใช้เครื่องกกลูกห่าน จะต้องสังเกตการแสดงออกของลูกห่านเป็นเครื่องชี้ให้ทราบว่า ความร้อนที่ใช้กกเหมาะสมดีหรือไม่ เช่น ลูกห่านเบียดสุมกันอยู่ และส่งเสียงดัง แสดงว่าความร้อนไม่พอ หรือลูกห่านยืนอ้าปาก กางปีกออก แสดงว่าความร้อนมากเกิน
โรงเรือนหรือสถานที่ใช้ในการกกลูกห่าน พื้นคอกจะต้องแห้งมีแสงสว่งพอควร ไม่มีหยักไย่ฝุ่นละอองที่สกปรก อากาศถ่ายเทได้ดี และ สามารถป้องกันมิให้สุนัข แมว หรือ หนู เข้าไปรบกวน อันตรายลูกห่านได้
หากจะใช้รางน้ำหรือรางอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกไก่มาใช้เลี้ยงลูกห่านก็ได้แต่ควรให้มีพื้นที่ขอบรางน้ำสำหรับลูกห่านหนึ่งตัวอย่างน้อย 3/4 นิ้ว และ ขอบรางอาหาร 1/2 นิ้ว การให้อาหารลูกห่านควรให้บ่อยๆ วันละประมาณ3-5 ครั้ง ปริมาณอาหารที่ให้กิน ประมาณว่าให้แต่ละครั้งลูกห่านกินหมดพอดี หรือหากเหลือก็น้อยที่สุด โดยเฉลี่ยลูกห่านจะกินอาหารวันละประมาณ10% ของน้ำหนักตัว มีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
จากช่วงแรกเกิดถึง 3 สัปดาห์ จะใช้อาหารลูกไก่สำเร็จรูปชนิดอัดเม็ดมาใช้เลี้ยงลูกห่านก็ได้ หรือหากผสมอาหารเอง เมื่อผสมแล้วจะต้องมีโปรตีนประมาณ 18 % ห่านจะกินอาหารประมาณ 1.3 กิโลกรัม ต่อตัว ได้น้ำหนัก 800 กรัม
 การจัดการและการเลี้ยงห่านรุ่น
หลังจากที่ลูกห่านมีอายุ 3 สัปดาห์แล้ว อาหารที่ใช้เลี้ยงควรจะเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 15 %  หรือจะใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่รุ่นก็ได้ และควรจะให้ห่านได้กินหญ้าสดโดยเร็วเท่าที่จะเป็นได้ โดยค่อยๆ ปล่อยให้ห่านหัดหาหญ้ากินเอง แล้วจัดการอาหารผสมเสริมไว้ให้กินในตอนเย็นวันละประมาณ 10-150 กรัมต่อตัว การปล่อยให้ห่านไปหาหญ้ากินควรมีร่มไม้หรือทำร่มไว้ให้ในระยะระหว่างที่อากาศร้อน หากสามารถจัดทำแปลง
หญ้าสำหรับห่านได้โดยเฉพาะเป็นการดีอย่างยิ่ง อีกทั้งประหยัดต้นทุนการผลิตด้วย ห่านชอบกินหญ้าที่ต้นอ่อนยังสั้นอยู่และนุ่ม แปลงหญ้าที่ปล่อยให้ห่านเข้าไปกินแล้วจะต้องตบแต่งเป็นการทำให้หญ้าที่เหลือค้างอยู่ไม่แก่ การตัดในช่วงห่างสม่ำเสมอกัน จะช่วยทำให้หญ้าไม่ยาวและมีเยื้อใยมากเกินไป แปลงหญ้าที่ได้รับการบำรุงอย่างดี เนื้อที่ 1 ไร่ จะเลี้ยงห่านได้ประมาณประมาณ 30-50 ตัว
การจัดการและเลี้ยงห่านเนื้อ
ห่านที่นำมาเลี้ยงขุนเพื่อขายเป็นห่านเนื้อ จะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน อาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารพวกแป้ง หรืออาหารไก่เนื้อช่วงสุดท้ายก็ได้ โดย นำห่านเลี้ยงไว้ขังในคอกเล็กๆ ไม่ต้องปล่อยไปหากินหญ้า แต่ควรตัดหญ้านำมาให้กินในคอก เพื่อห่านจะได้มีน้ำหนักตัวเพิ่มเร็วขึ้นและเนื้อมีคุณภาพดี น้ำหนักที่ตลาดต้องการประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อตัว ใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดประมาณ 3-4 เดือน จากการทดลองใช้อาหารโปรตีน 15 % เลี้ยงห่านจนอายุ 15 สัปดาห์ พบว่าเพศผู้หนัก 4.5 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 4 กิโลกรัม
ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เหมาะสำหรับส่งตลาด ห่านประเภทนี้จะมีผู้ซื้อ 2 พวก พวกแรกซื้อไปทำพันธุ์ อีกพวกหนึ่งจะซื้อไปขุนส่งภัตตาคาร วิธีขุนอาจจะแบ่งขุนเป็น
1- ขุนคอกเล็ก นำห่านขังคอกประมาณ 20-25 ตัว ต่อคอกมีพื้นที่ขนาดให้พออยู่ได้สบายๆ ไม่ต้องมีลานวิ่ง พื้นคอกมีวัสดุรองพื้น จะจัดกั้นลานเล็กๆ ให้อยู่ก็ได้ ให้อาหารกินวันละ 3 เวลา มีน้ำให้กินตลอดเวลา และมีข้าวเปลือกหรือข้าวโพดหญ้าสดหรือเศษผักที่ไม่มีสารพิษตกค้างให้กินด้วย
2- ขุนเป็นฝูงใหญ่ ฝูงละเป็น 100 ตัวขึ้นไป ซึ่งอาจะใช้วิธีเดียวกันกับการเลี้ยงไก่กระทงก็ได้ โดยใช้โรงเรือนแบบเดียวกัน พื้อนคอกต้องมีวัสดุปูรองพื้น หรือจะใช้พื้นลวดตาข่ายก็ได้ อาหารที่ใช้ขุนจะใช้อาหารไก่กระทงช่วงสุดท้าย หรือผสมใช้เองก็ได้ พร้อมทั้งมีภาชนะใส่น้ำไว้ให้กินด้วย หรือ อาจจะใช้วิธีขุนในแปลงหญ้าโดยเฉพาะ และมีอาหารผสมเสริมให้กิน ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ระยะการขุนสั้น
ตารางสูตรอาหารชองห่านในระยะต่างๆ

ตารางเปรียบเทียบการเจรฺญเติบโตของห่านเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่เนื้อเปรียบเทียบกับสูตรอาหาร
รำละเอียด : ปลายข้าว 6:1


คุณค่าทางอาหารของเนื้อห่าน
 เนื้อห่านก็เหมือนกับเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย น้ำ โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ ไวตามิน และ คาโบไฮเดรตอีกเล็กน้อย ส่วนประกอบเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุ และสภาพการเลี้ยงดู เนื้อของห่านเมื่อยังเล็กจะมีน้ำมากและมีไขมันต่ำ แต่ก็ยังมีไขมันมากกว่าเนื้อไก่ คุณสมบัติที่เด่นของเนื้อสัตว์ปีกอยู่ที่คุณค่าอาหารและร่างกายมนุษย์สามารถที่จะย่อยและดูดซึมเข้าร่างกายได้ เนื้อห่านมีโปรตีนพอๆกับเนื้อไก่ โดยเฉพาะเนื้อห่านที่ไม่ได้ขุนจะมีโปรตีนมากกว่าเนื้อไก่และเนื้อห่านขุน เนื้อห่านขุน จะมีไขมันมากกว่าเนื้อไก่ และให้ปริมาณพลังงานที่มากกว่าเนื้อไก่
การจัดการและการเลี้ยงดูห่านพันธุ์และห่านกำลังไข่
ในบ้านเราจากการศึกษาพบว่าห่านจะเริ่มให่ไข่เมื่ออายุประมาณ 165 วัน หรือประมาณ 5 เดือน ครึ่งขึ้นไป ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเมื่อห่านจะเริ่มให้ไข่ ตัวแม่ห่านจะหารังวางไข่เอง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำรังวางไข่ให้ ซึ่งอาจทำได้หลาย
ลักษณะ เช่น ทำเป็นช่องๆ เหมือนรังไข่สำหรับเป็ดหรือไก่ ช่องละ 1 ตัว ควรมีขนาดอย่างน้อยกว้าง 18 นิ้ว ลึก 20 นิ้ว หรืออาจจะทำเป็นรังไข่ตามยาวโดยไม่ต้องกั้นเป็นช่องก็ได้ พร้อมทั้งมีวัสดุรองพื้นที่สะอาดรองไว้ให้หนาพอสมควร เพื่อไข่จะได้สะอาด ในแม่ห่านที่เก็บจะเก็บไข่เข้าตู้ฟักอย่างน้อยจะต้องมีรังไข่ 1 รัง สำหรับห่าน 4-5 ตัว ส่วนแม่ห่านที่ฟักไข่เองจะต้องมีรังไข่ 1 รัง สำหรับแม่ห่าน 1 ตัว
ห่านจะให้ไข่เป็นชุดๆ ในปีหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ชุด แต่อาจให้ไข่ตั้งแต่ 1-7 ชุด ชุดหนึ่งจะได้ไข่ประมาณ 7- 10 ฟอง แต่บางครั้งอาจใด้ครั้งละ 9-12 ฟอง ซึ่งการให้ไข่ในชุดที่ 2 จะให้ไข่มากกว่าชุดอื่นๆ และแต่ละชุดจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วันโดยมีช่วงห่างระหว่างชุดแรกกับชุดที่สอง ตั้งแต่ 26-71 วัน โดยช่วงห่างระหว่างชุดแรกจะห่างมาก และชุดต่อๆไปจะสั้นลงเรื่อยๆ ระยะแรกๆไข่ห่านจะมีขนาดเล็กเท่ากับไข่เป็ด ต่อไปจะมีขาดใหญ่ขึ้น เมื่ออายุการให้ไข่ครบปี ไข่ห่านจะมีขนาดสองเท่าของไข่เป็ด ไข่ห่านโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักประมาณฟองละ 155.6 กรัม
ปรกติแล้วห่านจะให้ไข่วันเว้นวัน แต่มีบางตัวที่ให้ไข่สองวันหรือสามวัน ติดต่อกัน แล้วจึงหยุดไข่ วันหนึ่งหรือหลายวัน และห่านจะออกไข่ตอนเช้ามืด
การให้ไข่ของห่านในปีที่สอง จะให้ไข่จำนวนมากกว่าในปีแรกและ ฟองใหญ่กว่าด้วยถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นของไข่มีเชื้อจะลดน้อยลงเมื่อห่านมีอายุมากขึ้น แต่การฟักออกของไข่ห่านที่มีเชื้อจะมีเปอร์เซ็นเพิ่มขึ้นในปีที่สอง หลังจาก 2-3 ปี ไปแล้วการให้ไข่จะลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อๆไป แต่ก็มีแม่ห่านบางตัวสามารถให้ไข่ได้ดี ถึงว่าอายุจะครบ 10 ปี แล้วก็ตาม
ในช่วงที่ห่านกำลังให้ไข่ควรให้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 16% ให้กินวันละ 2 เวลา วันละประมาณ 250 กรัมต่อตัว และให้ผักตบชวาหรือหญ้าขนให้กินเต็มที่
ส่วนห่านที่เลี้ยงไว้ทำพันธุ์ หลังจากพ้นช่วงเป็นห่านรุ่นแล้วก็พิจารณาคัดเลือกห่านที่มีลักษณะดีนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
หลักใหญ่ๆ ที่ใช้จารณาในการคัดเลือกห่านสำหรับผสม คือ
1- การเจริญเติบโต
2- น้ำหนักตัว
3- เนื้อหน้าอกเต็ม
4- กระดูกลึก
 ลักษณะที่สำคัญอย่างอื่นประกอบ คือ
1- การเลี้ยงรอดดี
2- การให้ไข่
3-การผสมติด
4- การฟักออกตัว
5- สีของขน
นอกจากนั้นลักษณะที่สำคัญของห่านพ่อพันธุ์ที่จะต้องพิจารณาก็คือ มีสุขภาพแข็งแรง ข้อขาแข็ง คุมฝูงเก่ง และมีความกระตือรือร้นในการผสมพันธุ์ อัตตราส่วนของตัวผู้และตัวเมียในการผสมพันธุ์ สำหรับห่านพันธุ์หนัก ตัวผู้หนึ่งตัวใช้คุมฝูงผสมพันธุ์ตัวเมีย 2-3 ตัว ส่วนห่านพันธุ์เบาตัวผู้หนึ่งตัวใช้คุมฝูงตัวเมีย 4-5 ตัว
การผสมพันธุ์ของห่าน ควรปล่อยให้ผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ ถ้าห่านได้ผสมพันธุ์ในน้ำ จะช่วยให้เปอร์เซ็นไข่มีเชื้อดีขึ้น การผสมแบบฝูงใหญ่ประมาณ 25-30 ตัว ไม่ควรกระทำ เพราะนอกจากห่านพ่อพันธุ์จะจิกตีกันเองแล้วยังจะทำให้การให้ไข่ของห่านแม่พันธุ์ลดน้อยลงด้วย
ในระยะแรกจะพบว่าการผสมพันธุ์ของห่านนั้นเป็นไปอย่างช้าและลำบาก จนกว่าห่านตัวผู้และตัวเมียจะคุ้นเคยกัน และหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ควรแยกห่านตัวเก่าออกไปให้ไกล เพราะจะทำให้ห่านตัวเก่าและห่านตัวใหม่รังแกกัน จิกตีกัน หรือส่งเสียงร้องเป็นเหตุให้ห่านตัวใหม่ที่เปลี่ยนเข้าไปเกิดความกลัว ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรเปลี่ยน พ่อพันธุ์ นอจากว่าพ่อพันธุ์จะมีอายุแก่เกินไป ห่านพ่อพันธุ์ตามปกติแล้วยังสามารถใช้ผสมพันธุ์ได้ถึงอายุเกิน 5 ปีไปแล้วก็ตาม
โรคและการป้องกัน
ห่านเป็นสัตว์ปีกที่มีปัญหาเรื่องโรคน้อยกว่าไก่ โรคห่านที่สำคัญมีดังนี้
1- โรคอหิวาต์  เกิดจากเชื่อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการทั่วไปห่านจะซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจะมีไข้สูง ถ้าคลำดูที่คอและเท้าจะร้อน มักจะจับกลุ่มกันอยู่ใกล้บริเวณรางน้ำ อุจจาระมีสีขาวปนเขียวและมีลักษณะเป็นยางเหนียว บางครั้งห่านจะตายอย่างกระทันหัน หรือถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ข้อเข่า ข้อเท้าอักเสบบวม ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
การรักษา การใช้ยาซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะ จะช่วยลดความเสียหายในฝูงห่านเป็นระยะแรก สำหรับยาซัลฟาที่ใช้ได้ผลดีคือ ยาซัลฟาเมอราซีน หรือ ซัลฟาเมทธารีน และการใช้ยาปฎิชีวนะ คลอเดตร้าซัยคลิน หรือ ออกซี่เดตตร้าซัยคลินผสมในอาหาร ระดับ 500 กรัมต่ออาหาร 1 ตัน  ก็จะช่วยลดความรุนแรงลงได้
 การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันอหิวาห์ ดังนี้
ครั้งที 1 ทำเมื่อห่านอายุ 3 สัปดาห์
ครั้งที่ 2 ทำเมื่ออายุ 3 เดือน
และฉีดซ้ำทุกๆ 3 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังตัวละ 1 ซีซี หรือตามคำแนะนำตามฉลากข้างขวด
2- โรคดั๊กเพล็ก -กาฬโรคเป็ด
เกิดจากเชื้อไวรัส อาการโดยทั่วไปเมื่อเริ่มเป็น ห่านจะแสดงอาการซึม ท้องร่วงเบื่ออาหาร ปีกตก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลออกค่อนข้างเหนียว เมื่อเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย อุจจาระสีเขียวปนเหลืองบางครั้งมีเลือดปนบริเวณรอบๆ ทวารจะแดงซ้ำและหายใจลำบาก
การรักษา ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคนี้ที่ได้ผล คงมีแต่การป้องกันเท่านั้น
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกัน ดังนี้
ครั้งแรก ทำเมื่อห่านอายุ 3-4 สัปดาห์
ครั้งที่สอง เมื่อห่านอายุ 3 เดือน
ครั้งที่สาม เมื่อห่านอายุ 6 เดือน หรือก่อนวางไข่ และทำซ้ำทุกๆ 6 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก ตัวละ 1 ซีซี หรือตามคำแนะนำในฉลากข้างขวด (ตามตาราง)
จากทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นนะครับ คงจะพอให้เข้าใจในรื่องของการเลี้ยงห่านกันแล้วนะครับ ว่าห่านนั้นเป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยเป็นโรค เป็นแห่ลงโปรตีนของมนุษย์ เจริญเติบโตเร็ว การลงทุนต่ำ เลี้ยงได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดอน ที่ลุ่ม แม้ในบริเวณบ้านก็ใช้เลี้ยงห่านได้ การลงทุนในการเลี้ยงที่ต่ำมาก เหมาะกับเกษตรกรในบ้านเรา และภูมิศาสตร์ของบ้านเราเป็นอย่างดีนะครับ ทั้งนี้การเลี้ยงห่าน ก็ไม่ต้องเอาใจใส่อะไรมากนักเพราะห่านเป็นสัตว์ที่แข็งแรง ทนต่อโรคภัยและการแปรปวนของอากาศได้เป็นอย่างดีนะครับ จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดทุกๆท่านคงได้รับความรู้และได้ข้อมูลในการเลี้ยงห่านกัน ไม่มาก ก็น้อยนะครับ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านที่คิดจะเลี้ยงห่านหรือเลี้ยงห่านอยู่แล้วจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลปรับปรุงพัฒนาศักภาพในการเลี้ยงห่านของท่านอย่างถูกวิธี และช่วยให้เกิดความเข้าใจในการเลี้ยงห่านกันมากขึ้นในวงกว้างนะครับ ทั้งนี้หากคลิปนี้ท่านเห็นว่ามีประโยชน์ก็ฝากกดไลน์ กดแชร์ บอกต่อๆกันไปด้วยนะครับ เพื่อเป็นวิทยาทานสร้างคุณประโยชน์ ทางด้านความรู้ในวงกว้างนะครับ ทุกๆท่านสามารถแชร์ได้ ผมไม่หวงนะครับ แชร์กันออกไปได้เลย และในสุดท้ายนี้ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก เอกสารคำแนะนำการเลี้ยงห่าน จาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นะครับ สำหรับคลิปนี้ผมขอบจบเพียงเท่านี้นะครับ และผมต้องขอตัวลาไปก่อนนะครับ และพบกันใหม่กับสาระดีๆที่ผมจะนำมาฝากในคลิปต่อๆไปอีกเช่นเคยนะครับ สวัสดีครับ บ้ายบายๆ
ดลรวี ภัทรกุลพิมล
อาสาปศุสัตว์ดีด่น ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร
Website : https://www.anragon.com/
Facebook : https://www.Facebook.com/LivestockNJ
Youtube :  https://goo.gl/F6d8A4


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น