EP.3 ข้อดีของการเลี้ยง ห่าน สัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ และ สร้างอาชีพ ตอนที่ 3 | เลี้ยงห่านสร้างรายได้



รับชมคลิปวีดีโอแนะนำการเลี้ยงห่านทั้งสามตอนได้ที่นี่  ตอนที่1 | ตอนที่2 | ตอนที่3


การดูเพศห่าน
ในลูกห่านเราสามารถตรวจดูเพศของห่านได้โดย
1- ปลิ้นก้นดู ซึ่งเหมือนกับวิธีดูเพศลูกเป็ด วิธีนี้สามารถดูเพศลูกห่านได้เมืออายุ 1-2 วัน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดเหนือถวารด้านบนแล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดปลิ้นทวาร ถ้าเป็นลูกห่านตัวผู้จะเห็นเป็นเดือยเล็กๆคล้ายๆกับเข็มหมุดโผล่ออกมา ส่วนตัวเมียเมื่อปลิ้นก้นดูไม่มีเดือยเล็กๆโผล่ออกมา
2- ดูปีก เมื่อลูกห่านอายุประมาณ 3-4 วัน จะสังเกตุได้โดยดูปมที่ข้อศอกด้านในปีก ถ้าเป็นห่านตัวผู้ปมจะใหญ่ มีสีดำ ลักษณะยาวรี ไม่มีขนปกคลุม มีขนาดเท่าปลายดินสอมองเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นลูกห่านตัวเมียจะไม่มีปมดังกล่าว หรือถ้ามีขนาดจะเล็กมาก และมีขนปกคลุมจนมองไม่เห็น
3- ดูสีขน วิธีนี้ใช้ดูในห่านสายพันธุ์พิลกริม และสายพันธุ์เอมเดนเท่านั้นคือ ลูกห่านสายพันธุ์พิลกริมตัวผู้จะมีสีครามอ่อนๆ เกือบขาวแต่ลูกห่านตัวเมียจะมีสีเท่า ส่วนลูกห่านสายพันธุ์เอมเดนตัวผู้จะมีสีขาวมากปนกับสีเท่าอ่อนเพียงเล็กน้อย ส่วนตัวเมียจะมีสีเทามากปนสีขาวเพียงเล็กน้อย

เมื่อลูกห่านโตแล้วจนเป็นห่านรุ่นขึ้นไป จะสังเกตลักษณะเพศโดย
1- วิธีดูอวัยวะเพศ โดยจับห่านวางบนโต๊ะหรือวางบนโคนขาของผู้จับ ให้หางห่านชี้ออกไปจากตัวผู้จับห่าน แล้วใช้นิ้วชี้ทาวาสลีนสอดเข้าไปในรูทวาร ลึกประมาณครึ่งนิ้ว วนรอบๆทวารหลายๆครั้ง หลังจากนั้นค่อยๆกดด้านล่างหรือด้านข้างของทวาร หากเป็นตัวผู้อวัยวะเพศซึ่งมีลักษณะคล้ายเกี่ลยวเปิดจุกก๊อกจะโผล่ออกมาให้เห็น
2- วิธีฟังเสียง ให้ห่านที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ห่านตัวผู้จะมีเสียงแหลม ส่วนตัวเมียจะมีเสียงแหบต่ำ
3- วิธีดูลักษณะรูปร่าง ในห่านอายุเท่ากัน ห่านตัวผู้จะสังเกตได้จากลักษณะรูปร่าง ซึ่งมีลำตัวยาวกว่า คอยาวกว่า และหนากว่า อีกทั้งขนาดตัวใหญ่กว่า

การจัดการและการเลี้ยงดูลูกห่าน
หากอากาศไม่หนาวเย็นหรือในระหว่างหน้าร้อน การกกลูกห่านจะกกเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น ซึ่งกกประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากใช้แม่ไก่ หรือแม่ห่านกกซึ่งเป็นการกกแบบธรรมชาติ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แม่ไก่หนึ่งตัวจะกกลูกห่านได้ประมาณ 4-5 ตัว ส่วนแม่ห่านจะกกลูกห่านได้ประมาณ 7-8 ตัว หากมีลูกห่านเกิดใหม่จำนวนมาก ก็ควรใช้กกแบบวิทยาศาสตร์ คือ
 1- ตะเกียง การใช้ตะเกียงกก ตะเกียงหนึ่งดวงจะใช้กกลูกห่านได้ประมาณ 15-35 ตัว ควรใช้สังกะสีทำเป็นวงล้อมกันมิให้ลูกห่านถูกตะเกียง และมีวงล้อมด้านนอกกั้นไม่ไห้ลูกห่านออกไปไกลจากตะเกียงมาก เพราะต้องให้ห่านได้ความร้อนจากตะเกียง
2- เครื่องกก ซึ่งอาจจะใช้ไฟฟ้าหรือใช้แก๊สก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ไฟฟ้า อาจจะเป็นลักษณะเป็นกรงกก หรือลักษณะแบบฝาชีก็ได้ กรงกกขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ใช้กกลูกห่านได้ประมาณ 50-75 ตัว ถ้าเป็นแบบเครื่องกกฝาชี ซึ่งกกลูกไก่ได้ 500 ตัว ก็จะใช้กกลูกห่านได้ 250 ตัว
ในการใช้เครื่องกกลูกห่าน จะต้องสังเกตการแสดงออกของลูกห่านเป็นเครื่องชี้ให้ทราบว่า ความร้อนที่ใช้กกเหมาะสมดีหรือไม่ เช่น ลูกห่านเบียดสุมกันอยู่ และส่งเสียงดัง แสดงว่าความร้อนไม่พอ หรือลูกห่านยืนอ้าปาก กางปีกออก แสดงว่าความร้อนมากเกิน
โรงเรือนหรือสถานที่ใช้ในการกกลูกห่าน พื้นคอกจะต้องแห้งมีแสงสว่งพอควร ไม่มีหยักไย่ฝุ่นละอองที่สกปรก อากาศถ่ายเทได้ดี และ สามารถป้องกันมิให้สุนัข แมว หรือ หนู เข้าไปรบกวน อันตรายลูกห่านได้
หากจะใช้รางน้ำหรือรางอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกไก่มาใช้เลี้ยงลูกห่านก็ได้แต่ควรให้มีพื้นที่ขอบรางน้ำสำหรับลูกห่านหนึ่งตัวอย่างน้อย 3/4 นิ้ว และ ขอบรางอาหาร 1/2 นิ้ว การให้อาหารลูกห่านควรให้บ่อยๆ วันละประมาณ3-5 ครั้ง ปริมาณอาหารที่ให้กิน ประมาณว่าให้แต่ละครั้งลูกห่านกินหมดพอดี หรือหากเหลือก็น้อยที่สุด โดยเฉลี่ยลูกห่านจะกินอาหารวันละประมาณ10% ของน้ำหนักตัว มีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
จากช่วงแรกเกิดถึง 3 สัปดาห์ จะใช้อาหารลูกไก่สำเร็จรูปชนิดอัดเม็ดมาใช้เลี้ยงลูกห่านก็ได้ หรือหากผสมอาหารเอง เมื่อผสมแล้วจะต้องมีโปรตีนประมาณ 18 % ห่านจะกินอาหารประมาณ 1.3 กิโลกรัม ต่อตัว ได้น้ำหนัก 800 กรัม
 การจัดการและการเลี้ยงห่านรุ่น
หลังจากที่ลูกห่านมีอายุ 3 สัปดาห์แล้ว อาหารที่ใช้เลี้ยงควรจะเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 15 %  หรือจะใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่รุ่นก็ได้ และควรจะให้ห่านได้กินหญ้าสดโดยเร็วเท่าที่จะเป็นได้ โดยค่อยๆ ปล่อยให้ห่านหัดหาหญ้ากินเอง แล้วจัดการอาหารผสมเสริมไว้ให้กินในตอนเย็นวันละประมาณ 10-150 กรัมต่อตัว การปล่อยให้ห่านไปหาหญ้ากินควรมีร่มไม้หรือทำร่มไว้ให้ในระยะระหว่างที่อากาศร้อน หากสามารถจัดทำแปลง
หญ้าสำหรับห่านได้โดยเฉพาะเป็นการดีอย่างยิ่ง อีกทั้งประหยัดต้นทุนการผลิตด้วย ห่านชอบกินหญ้าที่ต้นอ่อนยังสั้นอยู่และนุ่ม แปลงหญ้าที่ปล่อยให้ห่านเข้าไปกินแล้วจะต้องตบแต่งเป็นการทำให้หญ้าที่เหลือค้างอยู่ไม่แก่ การตัดในช่วงห่างสม่ำเสมอกัน จะช่วยทำให้หญ้าไม่ยาวและมีเยื้อใยมากเกินไป แปลงหญ้าที่ได้รับการบำรุงอย่างดี เนื้อที่ 1 ไร่ จะเลี้ยงห่านได้ประมาณประมาณ 30-50 ตัว
การจัดการและเลี้ยงห่านเนื้อ
ห่านที่นำมาเลี้ยงขุนเพื่อขายเป็นห่านเนื้อ จะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน อาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารพวกแป้ง หรืออาหารไก่เนื้อช่วงสุดท้ายก็ได้ โดย นำห่านเลี้ยงไว้ขังในคอกเล็กๆ ไม่ต้องปล่อยไปหากินหญ้า แต่ควรตัดหญ้านำมาให้กินในคอก เพื่อห่านจะได้มีน้ำหนักตัวเพิ่มเร็วขึ้นและเนื้อมีคุณภาพดี น้ำหนักที่ตลาดต้องการประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อตัว ใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดประมาณ 3-4 เดือน จากการทดลองใช้อาหารโปรตีน 15 % เลี้ยงห่านจนอายุ 15 สัปดาห์ พบว่าเพศผู้หนัก 4.5 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 4 กิโลกรัม
ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เหมาะสำหรับส่งตลาด ห่านประเภทนี้จะมีผู้ซื้อ 2 พวก พวกแรกซื้อไปทำพันธุ์ อีกพวกหนึ่งจะซื้อไปขุนส่งภัตตาคาร วิธีขุนอาจจะแบ่งขุนเป็น
1- ขุนคอกเล็ก นำห่านขังคอกประมาณ 20-25 ตัว ต่อคอกมีพื้นที่ขนาดให้พออยู่ได้สบายๆ ไม่ต้องมีลานวิ่ง พื้นคอกมีวัสดุรองพื้น จะจัดกั้นลานเล็กๆ ให้อยู่ก็ได้ ให้อาหารกินวันละ 3 เวลา มีน้ำให้กินตลอดเวลา และมีข้าวเปลือกหรือข้าวโพดหญ้าสดหรือเศษผักที่ไม่มีสารพิษตกค้างให้กินด้วย
2- ขุนเป็นฝูงใหญ่ ฝูงละเป็น 100 ตัวขึ้นไป ซึ่งอาจะใช้วิธีเดียวกันกับการเลี้ยงไก่กระทงก็ได้ โดยใช้โรงเรือนแบบเดียวกัน พื้อนคอกต้องมีวัสดุปูรองพื้น หรือจะใช้พื้นลวดตาข่ายก็ได้ อาหารที่ใช้ขุนจะใช้อาหารไก่กระทงช่วงสุดท้าย หรือผสมใช้เองก็ได้ พร้อมทั้งมีภาชนะใส่น้ำไว้ให้กินด้วย หรือ อาจจะใช้วิธีขุนในแปลงหญ้าโดยเฉพาะ และมีอาหารผสมเสริมให้กิน ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ระยะการขุนสั้น
ตารางสูตรอาหารชองห่านในระยะต่างๆ

ตารางเปรียบเทียบการเจรฺญเติบโตของห่านเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่เนื้อเปรียบเทียบกับสูตรอาหาร
รำละเอียด : ปลายข้าว 6:1


คุณค่าทางอาหารของเนื้อห่าน
 เนื้อห่านก็เหมือนกับเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย น้ำ โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ ไวตามิน และ คาโบไฮเดรตอีกเล็กน้อย ส่วนประกอบเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุ และสภาพการเลี้ยงดู เนื้อของห่านเมื่อยังเล็กจะมีน้ำมากและมีไขมันต่ำ แต่ก็ยังมีไขมันมากกว่าเนื้อไก่ คุณสมบัติที่เด่นของเนื้อสัตว์ปีกอยู่ที่คุณค่าอาหารและร่างกายมนุษย์สามารถที่จะย่อยและดูดซึมเข้าร่างกายได้ เนื้อห่านมีโปรตีนพอๆกับเนื้อไก่ โดยเฉพาะเนื้อห่านที่ไม่ได้ขุนจะมีโปรตีนมากกว่าเนื้อไก่และเนื้อห่านขุน เนื้อห่านขุน จะมีไขมันมากกว่าเนื้อไก่ และให้ปริมาณพลังงานที่มากกว่าเนื้อไก่
การจัดการและการเลี้ยงดูห่านพันธุ์และห่านกำลังไข่
ในบ้านเราจากการศึกษาพบว่าห่านจะเริ่มให่ไข่เมื่ออายุประมาณ 165 วัน หรือประมาณ 5 เดือน ครึ่งขึ้นไป ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเมื่อห่านจะเริ่มให้ไข่ ตัวแม่ห่านจะหารังวางไข่เอง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำรังวางไข่ให้ ซึ่งอาจทำได้หลาย
ลักษณะ เช่น ทำเป็นช่องๆ เหมือนรังไข่สำหรับเป็ดหรือไก่ ช่องละ 1 ตัว ควรมีขนาดอย่างน้อยกว้าง 18 นิ้ว ลึก 20 นิ้ว หรืออาจจะทำเป็นรังไข่ตามยาวโดยไม่ต้องกั้นเป็นช่องก็ได้ พร้อมทั้งมีวัสดุรองพื้นที่สะอาดรองไว้ให้หนาพอสมควร เพื่อไข่จะได้สะอาด ในแม่ห่านที่เก็บจะเก็บไข่เข้าตู้ฟักอย่างน้อยจะต้องมีรังไข่ 1 รัง สำหรับห่าน 4-5 ตัว ส่วนแม่ห่านที่ฟักไข่เองจะต้องมีรังไข่ 1 รัง สำหรับแม่ห่าน 1 ตัว
ห่านจะให้ไข่เป็นชุดๆ ในปีหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ชุด แต่อาจให้ไข่ตั้งแต่ 1-7 ชุด ชุดหนึ่งจะได้ไข่ประมาณ 7- 10 ฟอง แต่บางครั้งอาจใด้ครั้งละ 9-12 ฟอง ซึ่งการให้ไข่ในชุดที่ 2 จะให้ไข่มากกว่าชุดอื่นๆ และแต่ละชุดจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วันโดยมีช่วงห่างระหว่างชุดแรกกับชุดที่สอง ตั้งแต่ 26-71 วัน โดยช่วงห่างระหว่างชุดแรกจะห่างมาก และชุดต่อๆไปจะสั้นลงเรื่อยๆ ระยะแรกๆไข่ห่านจะมีขนาดเล็กเท่ากับไข่เป็ด ต่อไปจะมีขาดใหญ่ขึ้น เมื่ออายุการให้ไข่ครบปี ไข่ห่านจะมีขนาดสองเท่าของไข่เป็ด ไข่ห่านโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักประมาณฟองละ 155.6 กรัม
ปรกติแล้วห่านจะให้ไข่วันเว้นวัน แต่มีบางตัวที่ให้ไข่สองวันหรือสามวัน ติดต่อกัน แล้วจึงหยุดไข่ วันหนึ่งหรือหลายวัน และห่านจะออกไข่ตอนเช้ามืด
การให้ไข่ของห่านในปีที่สอง จะให้ไข่จำนวนมากกว่าในปีแรกและ ฟองใหญ่กว่าด้วยถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นของไข่มีเชื้อจะลดน้อยลงเมื่อห่านมีอายุมากขึ้น แต่การฟักออกของไข่ห่านที่มีเชื้อจะมีเปอร์เซ็นเพิ่มขึ้นในปีที่สอง หลังจาก 2-3 ปี ไปแล้วการให้ไข่จะลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อๆไป แต่ก็มีแม่ห่านบางตัวสามารถให้ไข่ได้ดี ถึงว่าอายุจะครบ 10 ปี แล้วก็ตาม
ในช่วงที่ห่านกำลังให้ไข่ควรให้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 16% ให้กินวันละ 2 เวลา วันละประมาณ 250 กรัมต่อตัว และให้ผักตบชวาหรือหญ้าขนให้กินเต็มที่
ส่วนห่านที่เลี้ยงไว้ทำพันธุ์ หลังจากพ้นช่วงเป็นห่านรุ่นแล้วก็พิจารณาคัดเลือกห่านที่มีลักษณะดีนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
หลักใหญ่ๆ ที่ใช้จารณาในการคัดเลือกห่านสำหรับผสม คือ
1- การเจริญเติบโต
2- น้ำหนักตัว
3- เนื้อหน้าอกเต็ม
4- กระดูกลึก
 ลักษณะที่สำคัญอย่างอื่นประกอบ คือ
1- การเลี้ยงรอดดี
2- การให้ไข่
3-การผสมติด
4- การฟักออกตัว
5- สีของขน
นอกจากนั้นลักษณะที่สำคัญของห่านพ่อพันธุ์ที่จะต้องพิจารณาก็คือ มีสุขภาพแข็งแรง ข้อขาแข็ง คุมฝูงเก่ง และมีความกระตือรือร้นในการผสมพันธุ์ อัตตราส่วนของตัวผู้และตัวเมียในการผสมพันธุ์ สำหรับห่านพันธุ์หนัก ตัวผู้หนึ่งตัวใช้คุมฝูงผสมพันธุ์ตัวเมีย 2-3 ตัว ส่วนห่านพันธุ์เบาตัวผู้หนึ่งตัวใช้คุมฝูงตัวเมีย 4-5 ตัว
การผสมพันธุ์ของห่าน ควรปล่อยให้ผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ ถ้าห่านได้ผสมพันธุ์ในน้ำ จะช่วยให้เปอร์เซ็นไข่มีเชื้อดีขึ้น การผสมแบบฝูงใหญ่ประมาณ 25-30 ตัว ไม่ควรกระทำ เพราะนอกจากห่านพ่อพันธุ์จะจิกตีกันเองแล้วยังจะทำให้การให้ไข่ของห่านแม่พันธุ์ลดน้อยลงด้วย
ในระยะแรกจะพบว่าการผสมพันธุ์ของห่านนั้นเป็นไปอย่างช้าและลำบาก จนกว่าห่านตัวผู้และตัวเมียจะคุ้นเคยกัน และหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ควรแยกห่านตัวเก่าออกไปให้ไกล เพราะจะทำให้ห่านตัวเก่าและห่านตัวใหม่รังแกกัน จิกตีกัน หรือส่งเสียงร้องเป็นเหตุให้ห่านตัวใหม่ที่เปลี่ยนเข้าไปเกิดความกลัว ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรเปลี่ยน พ่อพันธุ์ นอจากว่าพ่อพันธุ์จะมีอายุแก่เกินไป ห่านพ่อพันธุ์ตามปกติแล้วยังสามารถใช้ผสมพันธุ์ได้ถึงอายุเกิน 5 ปีไปแล้วก็ตาม
โรคและการป้องกัน
ห่านเป็นสัตว์ปีกที่มีปัญหาเรื่องโรคน้อยกว่าไก่ โรคห่านที่สำคัญมีดังนี้
1- โรคอหิวาต์  เกิดจากเชื่อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการทั่วไปห่านจะซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจะมีไข้สูง ถ้าคลำดูที่คอและเท้าจะร้อน มักจะจับกลุ่มกันอยู่ใกล้บริเวณรางน้ำ อุจจาระมีสีขาวปนเขียวและมีลักษณะเป็นยางเหนียว บางครั้งห่านจะตายอย่างกระทันหัน หรือถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ข้อเข่า ข้อเท้าอักเสบบวม ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
การรักษา การใช้ยาซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะ จะช่วยลดความเสียหายในฝูงห่านเป็นระยะแรก สำหรับยาซัลฟาที่ใช้ได้ผลดีคือ ยาซัลฟาเมอราซีน หรือ ซัลฟาเมทธารีน และการใช้ยาปฎิชีวนะ คลอเดตร้าซัยคลิน หรือ ออกซี่เดตตร้าซัยคลินผสมในอาหาร ระดับ 500 กรัมต่ออาหาร 1 ตัน  ก็จะช่วยลดความรุนแรงลงได้
 การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันอหิวาห์ ดังนี้
ครั้งที 1 ทำเมื่อห่านอายุ 3 สัปดาห์
ครั้งที่ 2 ทำเมื่ออายุ 3 เดือน
และฉีดซ้ำทุกๆ 3 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังตัวละ 1 ซีซี หรือตามคำแนะนำตามฉลากข้างขวด
2- โรคดั๊กเพล็ก -กาฬโรคเป็ด
เกิดจากเชื้อไวรัส อาการโดยทั่วไปเมื่อเริ่มเป็น ห่านจะแสดงอาการซึม ท้องร่วงเบื่ออาหาร ปีกตก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลออกค่อนข้างเหนียว เมื่อเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย อุจจาระสีเขียวปนเหลืองบางครั้งมีเลือดปนบริเวณรอบๆ ทวารจะแดงซ้ำและหายใจลำบาก
การรักษา ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคนี้ที่ได้ผล คงมีแต่การป้องกันเท่านั้น
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกัน ดังนี้
ครั้งแรก ทำเมื่อห่านอายุ 3-4 สัปดาห์
ครั้งที่สอง เมื่อห่านอายุ 3 เดือน
ครั้งที่สาม เมื่อห่านอายุ 6 เดือน หรือก่อนวางไข่ และทำซ้ำทุกๆ 6 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก ตัวละ 1 ซีซี หรือตามคำแนะนำในฉลากข้างขวด (ตามตาราง)
จากทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นนะครับ คงจะพอให้เข้าใจในรื่องของการเลี้ยงห่านกันแล้วนะครับ ว่าห่านนั้นเป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยเป็นโรค เป็นแห่ลงโปรตีนของมนุษย์ เจริญเติบโตเร็ว การลงทุนต่ำ เลี้ยงได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดอน ที่ลุ่ม แม้ในบริเวณบ้านก็ใช้เลี้ยงห่านได้ การลงทุนในการเลี้ยงที่ต่ำมาก เหมาะกับเกษตรกรในบ้านเรา และภูมิศาสตร์ของบ้านเราเป็นอย่างดีนะครับ ทั้งนี้การเลี้ยงห่าน ก็ไม่ต้องเอาใจใส่อะไรมากนักเพราะห่านเป็นสัตว์ที่แข็งแรง ทนต่อโรคภัยและการแปรปวนของอากาศได้เป็นอย่างดีนะครับ จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดทุกๆท่านคงได้รับความรู้และได้ข้อมูลในการเลี้ยงห่านกัน ไม่มาก ก็น้อยนะครับ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านที่คิดจะเลี้ยงห่านหรือเลี้ยงห่านอยู่แล้วจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลปรับปรุงพัฒนาศักภาพในการเลี้ยงห่านของท่านอย่างถูกวิธี และช่วยให้เกิดความเข้าใจในการเลี้ยงห่านกันมากขึ้นในวงกว้างนะครับ ทั้งนี้หากคลิปนี้ท่านเห็นว่ามีประโยชน์ก็ฝากกดไลน์ กดแชร์ บอกต่อๆกันไปด้วยนะครับ เพื่อเป็นวิทยาทานสร้างคุณประโยชน์ ทางด้านความรู้ในวงกว้างนะครับ ทุกๆท่านสามารถแชร์ได้ ผมไม่หวงนะครับ แชร์กันออกไปได้เลย และในสุดท้ายนี้ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก เอกสารคำแนะนำการเลี้ยงห่าน จาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นะครับ สำหรับคลิปนี้ผมขอบจบเพียงเท่านี้นะครับ และผมต้องขอตัวลาไปก่อนนะครับ และพบกันใหม่กับสาระดีๆที่ผมจะนำมาฝากในคลิปต่อๆไปอีกเช่นเคยนะครับ สวัสดีครับ บ้ายบายๆ
ดลรวี ภัทรกุลพิมล
อาสาปศุสัตว์ดีด่น ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร
Website : https://www.anragon.com/
Facebook : https://www.Facebook.com/LivestockNJ
Youtube :  https://goo.gl/F6d8A4


EP.2 ข้อดีของการเลี้ยง ห่าน สัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ และ สร้างอาชีพ ตอนที่ 2 | เลี้ยงห่านสร้างรายได้



รับชมคลิปวีดีโอแนะนำการเลี้ยงห่านทั้งสามตอนได้ที่นี่  ตอนที่1 | ตอนที่2 | ตอนที่3


โดยทั่วไปการเลี้ยงห่าน เลี้ยงเพื่อขายเป็นห่านเนื้อ ส่วนการที่จะเริ่มเลี้ยงต้องดูความต้องการของตลาด อาทิเช่น ความต้องการของตลาดสำหรับห่านเนื้อมีความต้องการมากในเทศกาลตรุษจีน ดังนันผู้เลี้ยงจะต้องเลี้ยงล่วงหน้าก่อนเทศกาลตรุษจีน ประมาณ 3-4 เดือนเป็นต้น แต่โดยทั่วไปแล้วการเลี้ยงห่านก็มีการเลี้ยงกันตลอดทั้งปี
การฟักไข่ห่าน
ระยะเวลาในการฟักไข่ห่าน
1- ห่านพันธุ์ทั่วๆไป   30-32 วัน
2- ห่านพันธุ์แคนนาดาและพันธุ์อียิปต์เซี่ยน  35 วัน
วิธีการฟักไข่ห่านมีอยู่ 2 วิธี คือ
1-     การฟักด้วยวิธีธรรมชาติ โดยใช้แม่ไก่ แม่เป็ดเทศ แม่ไก่งวงหรือแม่ห่านเอง แม่ไก่สามารถฟักได้ครั้งละ 5-6 ฟอง เป็ดเทศและแม่ไก่งวงฟักได้ครั้งละ 8-10 ฟอง แม่ห่านฟักเองจะฟักได้ ครั้งละ 10-12 ฟอง

วิธีฟักไข่
ผู้เลี้ยงจะต้องจัดทำรังฟักไข่สำหรับให้แม่ไก่หรือแม่ห่านกกไข่ พื้นรังไข่รองด้วยหญ้าแห้งหรือฟางข้าว ก่อนให้แม่ไก่หรือแม่ห่านฟักไข่ จะต้องทำการกำจัดไรหรือเหาตามตัวเสียก่อน รังฟักไข่ควรจะอยู่ไกล้ที่ให้อาหารและน้ำ และอยู่ในที่ที่แม่ไก่หรือแม่ห่านไม่ถูกรบกวนในระหว่างการฟักไข่ หากมีการช่วยกลับไข่ด้วยวันละ 3-4 ครั้งจะเป็นผลดี ควรทำเครื่องหมายตามด้านยาวของฟองไข่ไว้กันการสับสน การกลับไข่ให้กลับ 180 องศา โดยพลิกกลับเอาด้านตรงกันข้ามขึ้น
 2- การฟักไข่โดยใช้ตู้ฟัก
ขั้นตอนในการฟักไข่ห่านโดยตู้ฟัก มีขั้นตอนดังนี้
1- การคัดเลือกขนาดและรูปร่างของไข่ห่านเข้าฟัก – ไข่ห่านที่นำมาเข้าตู้ฟักควรมีขนาดที่สม่ำเสมอ ลักษณะของฟองไข่รูปร่างต้องไม่กลมหรือแหลมเกินไป เปลือกไข่เรียบไม่มีขรุขระไม่มีรอยยุบ ร้าวหรือแตก เพราะจะทำให้การฟักออกไม่ดี แล้วจะส่งผลให้อากาศภายในตู้เสียอีกด้วย
2- การเก็บรักษาไข่ก่อนนำเข้าตู้ฟัก - ตามปกติแล้วจะเก็บไข่ห่านเข้าตู้ฟักทุก 7 วัน ในกรณีที่มีไข่ห่านจำนวนไม่มาก แต่ถ้ามีมากจะนำเข้าทุกๆ 3-4 วัน ในการเก็บรักษาไข่ห่านเพื่อรอการนำเข้าตู้ฟัก ควรเก็บในห้อง อุหภูมิ 50-65 องศาฟาเรนไฮต์และมีความชื้น 75 % ควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ไข่แดงติดเปลือก
3- การทำความสะอาดเปลือกไข่ -  ไข่ห่านที่จะนำมาฟักจะต้องทำความสะอาดทันทีที่เก็บมาจากรังไข่ ต้องไม่มีมูลหรือสิ่งสกปรกติดเปลือกไข่ควรใช้กระดาาทรายหยาบขัดออกให้หมด อย่าใช้วิธีล้างน้ำจะทำให้เชื้อโรคซึมแทรกเข้าไปตามรูพรุนเข้าสู่ภายในฟองไข่

และทำอันตรายต่อไข่ที่อยู่ภายในได้ ในขณะที่ทำความสะอาดไข่ควรตรวจดูเปลือกไข่ที่บุบและร้าวด้วย เพื่อคัดไข่ออกเสียแต่แรก ถ้านำไข่ ที่สกปรกบุบหรือแตกร้าวเข้าฟักไข่ จะทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อโรค ในสภาวะความร้อนในตู้ฟักไข่ จะทำให้ไข่แตกเน่า ส่งกลิ่นเหม็นภายในตู้ฟักและเกิดความสกปรกได้
4- การรมควันเพื่อฆ่าเชื้อโรค - ไข่ห่านที่ได้รับกาารคัดเลือกไว้สำหรับฟักทุกๆ ฟอง หลังจากทำความสะอาดเปลือกแล้ว ให้นำมารมควันเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่เกาะติดอยู่บนเปลือกไข่ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Salmonella ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ลูกห่านตายก่อนเจาะเปลือกไข่ โดยจะรมควันไข่ห่านที่เก็บมาจากคอกก่อนนำไข่เข้าห้องเก็บไข่ การรมควันใช้ด่างทับทิม 20 กรัม ฟอร์มาลีน 40% จำนวน 40 ซีซี ต่อพื้นที่ตู้รมควัน 100 ลูกบาศก์เมตร

วิธีทำคือ
ชั่งด่างทับทิมแล้วใส่ในชามกระเบื้อเคลือบแล้วใส่ในตู้รมควัน เทฟอร์มาลีนลงในชามกระเบื้อเคลือบแล้วรีบปิดตู้ทันที ระวังห้ามสูดดมควันฟอร์มาลีนมัลดีไฮด์ เพราจะทำให้เยื่อหุ้มจมูกและตาอักเสบได้ ทิ้งไว้ 20 นาที จากนั้นเปิดตู้รมควันเพื่อระบายควันแล้วจึงนำไข่เข้าเก็บในห้องเก็บไข่ สิ่งสำคัญคือ ห้ามรมควันไข่ที่ฟักไปแล้ว 24-72 ชั่วโมง และไม่รมควันไข่ห่านที่กำลังเจาะเปลือกไข่ออก
5- การฟักไข่ห่าน ระยะที่ 1-10 วันของการฟัก - ไข่ที่เก็บในห้องเก็บไข่ จะต้องนำออกมาวางทิ้งที่อุณหภูมิภายนอกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก่อนเข้าตู้ฟักไข่ แต่ควรระวังห้ามรมควันไข่ที่ฟักไปแล้ว 24-72 ชั่วโมง เพราะถ้ารมควัน จะทำให้ไข่เชื้อตายได้ ในช่วงที่อยู่ในตู้ฟักจะต้องมีอุณภูมิ100 องศาฟาเรนไฮด์ กลับไข่วันละ 6 ครั้ง เป็นอย่างน้อย


6- การกลับไข่ วางไข่ห่านในถาดฟัก โดยนอนราบกับพื้นถาด โดยไม่มีลวดกั้น วางไข่ลงในถาดเต็มถาดเหลือช่องว่างประมาณวางไข่ห่านได้ 2 ฟอง เพื่อให้ไข่ กลิ้งได้เมื่อเวลาเราเอียงถาดไข่ การกลับไข่ด้วยเครื่องฟักไข่โดยอัตโนมัติก็โดยการตั้งเครื่องกลับไข่ให้ถาดเอียงประมาณ 10-15 องศา ไข่ห่านก็จะกลิ้งไปในระยะทางเท่ากับไข่ 2 ฟอง ถ้าเป็นเครื่องฟักไข่ธรรมดาสามารถกลับไข่ได้โดยใช้มือสวมถุงมือที่สะอาด ลูบไปบนไข่ในถาดให้ไข่กลิ้ง หรือเคลื่อนที่ออกจากเดิมก็ได้ หรือจะทำคันโยกให้ถาดเอียงตามองศาดังกล่าว ในกรณีที่ไข่กลิ้งชนกันแตกหรือร้าว ให้ลดความลาดเอียงลงปรับให้เอียงพอดี หลักการวางไข่ในแนวนอน คือทำอย่างไรให้ไข่ห่าน เวลากลับไข่ให้ไข่กลิ้งไปได้รอบตัวหรือ 360 องศา แต่ถ้าใช้ไม่อัดเจาะรูก็จะทำให้พื้นลื่นเกินไป ไข่จะกลิ้งเร็วและเกิดแรงกระทบกันและร้าวได้
7- การฟักไข่ห่านในระยะที่ 2 ที่ 11-28 วันของการฟัก - ในวันที่ 11 ของการฟักจะนำออกจากตู้ฟักมาส่องไข่เพื่อหาไข่ห่านที่ไม่มีเชื้อและเชื้อตายออก เมื่อส่องไข่เสร็จแล้วนำไข่ที่มีเชื้อเข้าตู้ ซึ่งตู้ฟักต้องเป็นตู้ทีมีระบบให้ความร้อนและระบบพัดลมแยกออกจากกัน เพราะว่าในช่วงวันที่11-28 ของการฟัก จะเปิดให้ความร้อนเป็นเวลาแต่จะเปิดพัดลมตลอดเวลา จะปิดพัก12.00 น. ครบ 1 ชั่วโมง เวลา 13.00 น.จะทำการพ่นน้ำที่ไข่ห่านทุกฟองให้เปียกแล้วทิ้งไว้อีก 1 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลา 14.00 น. จึงปิดตู้แล้วเปิดระบบให้ความร้อนทำเช่นนี้ทุกวันจนถึงวันที่28 ของการฟัก อุณภูมิของตู้ฟักไข่ 100 องศาฟาเรนไฮด์ การกลับไข่ควรกลับอย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง จะทำให้เชื้อแข็งแรงและฟักออกดีขึ้น

8- การฟักไข่ห่านในระยะที่3 ที่ 29-31 วันของการฟัก - ในวันที่ 28 ของการฟักจะนำไข่ออกจากตู้ฟักไข่เพื่อนำมาส่องหาไข่ที่มีเชื้อแข็งแรงนำเข้าตู้เกิดไข่ ไข่ที่เชื้อตายไปแล้วจะนำออกไป การนำไขมีเชื้อเข้าตู้เกิดจะใส่ถาดโดยวางไข่ในแนนอนในช่วงนี้จะไม่มีการกลับไข่หรือพ่นน้ำแต่อย่างใด อุณหภูมิตู้เกิด ใช้อุณหภูมิ 98-99 องศาฟาเรนไฮด์ ไข่ห่านที่จะฟักออกได้ดีควรมีช่องอากาศภายในฟองไข่ เท่ากับ 1 ใน 3 ของฟองไข่ ตู้เกิดควรแยกออกจากตู้ฟักไม่ควรใช้ตู้เดียวกันเพราะถ้าควบคุมอุณหภูมิและความชื้นไม่ดีจะทำให้ลูกห่านเกิดน้อยลงและที่สำคัญคือไม่แข็งแรงและทำให้อัตรการตายสูงในช่วงสัปดาห์แรกของการเลี้ยง ลูกห่านจะเจาะเปลือกออกในวันที่ 30 ถึงวันที่ 32
การส่องไข่ฟัก
การส่งไข่ คือวิธีการตรวจดูว่าไข่ฟองไหนมีเชื้อ ไม่มีเชื้อ และฟองไหนเชื้อตาย การสองไข่ควรทำในห้องมืดโดยใช้ที่ส่องไข่ส่องดู หรือจะเอาไข่มาส่องกับแสงสว่งดูก็ได้ ควรส่องดู2ครั้ง ครั้งแรกเมื่อไข่ฟักไปแล้ว 10 วัน และส่องครั้งที่ 2 เมื่อครบ 28 วัน หรือเหลือ 3 วันก่อนกำหนดออกเป็นตัว
เมื่อส่องไข่ดูครั้งแรกพบไข่ไม่มีเชื้อหรือไข่เชื่อตาย จะต้องนำออกไปจากตู้ฟักทั้งหมด เพื่อไม่ไห้กระทบกระเทือนต่อการฟักออกไข่ที่มีเชื้อ ไข่ที่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นเหมือนไข่ธรรมดา ไข่เชื้อตายจะมีจุดดำติดอยู่กับเยื่อเปลือกไข่ซึ่งจะมีวงเลือดปรากฎอยู่ให้เห็น ส่วนไข่ที่มีเชื้อและเจริญเติบโตจะเห็นเป็นจุดดำที่ส่วนท้ายของไข่ใกล้กับช่องอากาศและมีเส้นเลือดกระจายออกไปรอบๆ จากจุดนี้เมื่อส่องไข่ครั้งที่ 2 จะส่องเมื่อไข่ฟักไปแล้ว 28 วัน จะพบไข่ที่เชื้อเจริญ และไข่เชื้อตาย ไข่ที่เชื้อเจริญสมบูรณ์ดีและกำลังจะฟักออกเป็นตัวจะเห็นเงาสีดำทึบและมีการเคลื่อนไหวของตัวลูกห่าน ช่องอากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 1/3-1/2 ของฟองไข่ ส่วนไข่เชื่อตายจะเห็นเป็นเส้นเลือดที่หยุดการเจริญ หรือเจริญแบบไม่สมบูรณ์ ช่องอากาศไม่เพิ่มขึ้น หรือหากเห็นเป็นสีดำทึบแต่ไม่มีการเคลื่อนไหวของลูกห่าน
https://www.anragon.com/2020/06/ep3-teaching-geese-raising-economy.html


ดลรวี ภัทรกุลพิมล
อาสาปศุสัตว์ดีด่น ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร
Website : https://www.anragon.com/
Facebook : https://www.Facebook.com/LivestockNJ
Youtube :  https://goo.gl/F6d8A4


EP.1 ข้อดีของการเลี้ยง ห่าน สัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ และ สร้างอาชีพ ตอนที่ 1 | เลี้ยงห่านสร้างรายได้



สวัสดีครับ พบกันอีกเช่นเคยกับ ดลรวี ภัทรกุลพิมล นะครับ อาสาปศุสัตว์ดีเด่น ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในบทความนี้ผมก็มีเรื่องราวดีๆ สาระน่ารู้ นำมาฝากกันอีกเช่นเคยนะครับ ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำเรื่องการเลี้ยงห่านเพื่อเป็นการสร้างอาชีพกันนะครับ เมื่อพูดถึงการเลี้ยงห่านนั้นเราสามารถจะเลี้ยงเป็นงานอดิเรกหรือสามารถทำเป็นอาชีพหลักก็ได้นะครับ เพราะห่านเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย มีความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) การเลี้ยงห่านเหมาะกับการเลี้ยงเป็นอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจในการทำอาชีพเกษตรทั้งมือใหม่และมือเก่านะครับ เรามารู้จักกับ ห่าน กันเลยดีกว่านะครับ..

รับชมคลิปวีดีโอแนะนำการเลี้ยงห่านทั้งสามตอนได้ที่นี่  ตอนที่1ตอนที่2 | ตอนที่3


การเลี้ยงห่าน...ด้วยความน่ารักของห่านนะครับ เราจะรับรู้ได้เลยว่าห่านเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยเป็นโรค มีสุขภาพแข็งแรง โตเร็ว ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ไม่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เหมาะเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงในภูมิภาค และ ภูมิศาสตร์บ้านเรานั่นเองนะครับ การเลี้ยงห่านก็เพราะเราต้องใช้ประโยชน์มาเป็นอาหารทางโปรตีน และการเลี้ยงห่านนั้น เป็นการใช้เงินลงทุนที่ต่ำมาก ลักษณะการเลี้ยงเราอาจจะเลี้ยงแบบขังเล้า หรือปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ท้องทุ่ง ท้องนา ปล่อยให้เล็มหญ้าหรือวัชพืช และมีการให้อาหารข้นที่ประกอบด้วย รำ ปลายข้าว ข้าวเปลือก เสริมให้กินเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วนะครับสำหรับการเลี้ยงห่านปัจจุบันการเลี้ยงห่านยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เพราะว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อในการบริโภคเนื้อห่านว่าเป็นอาหารแสลงนั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั่นไม่ บางรายอาจมีอาการแพ้บ้าง แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ นั้นเองนะครับ...

มาถึงตรงนี้เรามาทำความรู้จักกับสายพันธุ์ห่านแต่ละชนิดที่เรานิยมเลี้ยงกันนะครับ...


พันธุ์ของห่าน
เรามารู้จักกับ พันธุ์ห่าน กันนะครับ  พันธุ์ห่าน ที่นิยมเลี้ยงกันมากมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยงกันก็จะมีพันธุ์ เช่น พันธุ์จีน มีทั้งสีขาวและสีเทา พันธุ์เอมเดน พันธุ์โทเลาซ์ พันธุ์พิลกริม พันธุ์อาฟริกา และ พันธุ์อิยิปต์เซียน นอกจากพันธุ์ห่านดังกล่าวแล้ว ยังมีการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อผลิตห่านลูกผสมออกมาอีกด้วย


พันธุ์จีน (Chinese)
ห่านสายพันธุ์ จีน (Chinese) มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดที่เป็นที่นิยม คือ พันธุ์จีนสีขาว (White Chinese) และ พันธุ์จีนสีเทา  (Brown Chinese) ซึ่งห่านสายพันธุ์นี้จะมีรูปร่างเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่มีข้อดีคือห่านสายพันธุ์นี้จะโตเร็ว เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักปานกลางซึ่งเหมาะสำหรับส่งขายตลาด น้ำหนักเมื่อเป็นหนุ่มสาวตัวผู้หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 3.6 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้จะอยู่ประมาณ 5.5 กิโลกรัม และตัวเมียหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ แล้วห่านพันธุ์จีนยังให้ไข่ตอนอายุน้อยๆ และให้ไข่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉลี่ยให้ไข่ประมาณ 30-40 ฟองต่อปี ซึ่งเคยมีรายงานการให้ไข่สูงสุดถึงปีละ 132 ฟอง และน้ำหนักไข่เฉลี่ยฟองละ 150 กรัมเลยทีเดี่ยวนะครับ...


พันธุ์เอมเดน (Embden)
ห่านสายพันธุ์ เอมเดน (Embden) มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเยอรมนี ขนมีสีขาวบริสุทธิ์ตลอดตัว มีลักษณะค่อนข้างสวยงามแต่ขนบางเบา จึงมองเห็นเหมือนตั้งชี้ตรงขึ้นไป มีลักษณะลำตัวตรง ค่อนข้างใหญ่ มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว สามารถทำน้ำหนักตัวได้เต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายเนื้อ น้ำหนักตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว ตัวผู้หนักประมาณ 9 กิโลกรัม และตัวเมียหนักประมาณ 7 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้หนักประมาณ 12 กิโลกรัม และตัวเมียหนัก 9 กิโลกรัม ให้ไข่ได้ดีพอประมาณเฉลี่ยประมาณ ตัวละ 30-40 ฟองต่อปี


พันธุ์โทเลาซ์ (Toulouse)
ห่านสายพันธุ์ โทเลาซ์ (Toulouse) มีแหล่งกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ทางตอนใต้ ที่ชื่อเมือง โทเลาซ์ ลักษณะเฉพาะของห่านสายพันธุ์นี้คือ อ้วนล่ำ ลำตัวกว้าง มีขนไม่หนา ตรงกลางหลังมีขนสีเท่าเข้ม ซึ่งจะค่อยๆจางลงมาเรื่อยๆ ตรงอกและท้อง มีแถบเป็นขอบสีขาว ตาสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลแดง ปากมีสีส้มอ่อนๆ แข้งและข้อเท้ามีสีส้มปนแดง ส่วนขาตอนล่างและเล็บเท้ามีสีแสดเข้ม น้ำหนักตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว ตัวผู้หนักประมาณ 9 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 7 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่โตเต็มที่  ตัวผู้หนักประมาณ 12 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 9 กิโลกรัม ซึงเมื่อเทียบกับห่านสายพันธุ์ เอมเดน แล้วจะมีขนาดเท่าๆกัน การให้ไข่เฉลี่ยประมาณตัวละ 34 ฟองต่อปี


พันธุ์อาฟริกัน (African)
ห่านสายพันธุ์ อาฟริกัน (African) เป็นห่านรูปร่างสายงาม มีก้อนตุ่มขนาดโตสีดำ เห็นได้ชัดเจนบนหัว ลักษณะลำตัวยาวรี หัวสีน้ำตาลอ่อน จงอยปากเป็นสีดำ ขนบริเวณปีกและหลังสีเทาอ่อนปนน้ำตาล ขนตรงคอและอกสีเดียวกัน แต่อกสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ขนใต้ลำตัวมีสีอ่อนกว่าขนตรงอกจนเกือบจะเป็นสีขาว แข้งและเท้าสีส้มเข็ม น้ำหนักตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว ตัวผู้หนักประมาณ 7 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 6 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่โตเต็มที่  ตัวผู้หนักประมาณ 9 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 8 กิโลกรัม การให้ไข่เฉลี่ยประมาณตัวละ 10-40 ฟองต่อปี


พันธุ์แคนาดา (Canada goose)
ห่านสายพันธุ์ แคนาดา (Canada goose) เป็นห่านป่าที่มีถิ่นฐานอยู่ทางอเมริกาเหนือ ขนาดค่อนข้างเล็ก ลำตัวค่อนข้างยาว หัวมีสีดำ มีคาดสีเทาหรือขาวบนหน้าทั้งสองข้าง คอสีดำ หลังสีดำปนเทา ขนปีกมีสีดำขลิบเทาอ่อนและมีขนาดยาวใหญ่ เจริญเติบโตช้าและให้ไข่น้อยมากๆ น้ำหนักตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว ตัวผู้หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 3.5 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่โตเต็มที่  ตัวผู้หนักประมาณ 5.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม

พันธุ์อิยิปต์เซียน (Egyptian)
ห่านสายพันธุ์ อิยิปต์เซียน (Egyptian) เป็นห่านขนาดเล็ก ลำตัวค่อนข้างยาวเล็กและเรียว จงอยปากสีม่วงอมแดง หัวสีดำปนเทามีจุดสีน้ำตาลอมแดงรอบๆตา ลำตัวส่วนบนมีสีเทาปนดำ ส่วนล่างสีเหลืองเป็นลายๆ สลับริ้วสีดำ แข่งและเท้าสีเหลืองออกแดง


พันธุ์พิลกริม (Pilgrim)
ห่านสายพันธุ์ พิลกริม (Pilgrim) นี้มีสีแตกต่างกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เมื่ออายุได้ 1 วัน ตัวผู้จะมีสีครามจางๆ ไปทางขาว ส่วนตัวเมียจะมีสีเทา พอโตขึ้นตัวผู้จะมีสีขาวตลอดร่าง แต่ตัวเมียจะมีสีเทาปนขาว ลักษณะรูปร่างอยู่ในขนาดกลาง น้ำหนักตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว ตัวผู้หนักประมาณ 5.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่โตเต็มที่  ตัวผู้หนักประมาณ 6.5 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 6 กิโลกรัม การให้ไข่เฉลี่ยประมาณตัวละ 29-39 ฟองต่อปี


ประโยชน์ของการเลี้ยงห่าน
1- เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว เมื่อลูกห่านอายุได้ 10 วัน ขึ้นไป เปอร์เซ็นการเลี้ยงรอดประมาณ 80 % ใช้เวลาเลี้ยงส่งตลาดใช้ระยะเวลาอันสั้น อายุประมาณ 15 สัปดาห์ ก็บริโภคได้ ส่งตลาดได้แล้วนะครับ
2- การลงทุนต่ำ เนื่องจากห่านสามารถใช้ประโยชน์จากอาหารคุณภาพต่ำ อาทิเช่น พืชอาหารสัตว์ ตระกูลหญ้า และ ตระกูลถั่ว
3- เลี้ยงได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดอน ที่ลุ่ม แม้ในบริเวณบ้านก็ใช้เลี้ยงห่านได้ ขอให้มีที่บังแดดกันฝนก็เพียงพอแล้ว
4- ช่วยทำให้พื้นที่สะอาด ห่านสามารถกินหญ้าหรือวัชพืชต่างๆได้เป็นอย่างดี จึงช่วยทำให้บริเวณที่เลี้ยงสะอาด
5- มูลห่านใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้และพืชผักได้
6- ช่วยเฝ้าบ้านและป้องกันสัตว์ร้ายในบริเวณบ้าน เช่น แมลงป่อง ตะขาบ และงูเป็นต้นรวมถึงวัชพืชต่างๆได้ดี


โรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่าน
ปกติแล้วโรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะจำเป็นนัก นอกจากห่านในระยะแรกเกิด ควรมีโรงเรือนเลี้ยงเป็นสัดส่วน แต่อย่างไรควรจะสร้างเป็นโรงเรือนเล็กๆ แยกสำหรับเลี้ยงห่าน หรือเลี้ยงรวมกับเป็ด ไก่ ก็ได้โดยแยกกั้นแยกสัดส่วนอย่างชัดเจน หรือหากต้องการลดต้นทุนอาจจะกั้นบริเวณใต้ถุนหรือบริเวณลานบ้าน ใช้สังกะสีหรือรวดตาข่ายความสูง 1 เมตร ล้อมกั้นบริเวณก้ได้ เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยสถานที่ สิ่งสำคัญก็คือพื้นของโรงเรือน หรือบริเวณที่กั้นเลี้ยงห่านจะต้องแห้ง มีวัสดุรองพื้นหนาพอสมควร ในการเลี้ยงปล่อยควรมีร่มไม้ไว้ให้ห่านสำหรับหลบแดดด้วย


ความต้องการพื้นที่เลี้ยงของห่านในขนาดต่างๆ
ลูกห่านอายุ 1 สัปดาห์ ควรจัดให้มีพื้นที่ 1/2 - 3/4 ตารางฟุต ต่อตัว
ลูกห่านอายุ 2 สัปดาห์ ควรจัดให้มีพื้นที่ 1 - 2 ตารางฟุต ต่อตัว
ลูกห่านอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรจัดให้มีพื้นที่ 2 ตารางฟุต ต่อตัว
แต่ควรเลี้ยงแบบปล่อยอิสระโดยออกเลี้ยงทุ่งหญ้าหรือแปลงหญ้า

การเลี้ยงห่านแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1-การเลี้ยงห่านพันธุ์เพื่อผลิตไข่ที่มีเชื้อขายให้แก่โรงฟักในประเทศหรือส่งออกไข่ที่มีเชื้อไปขายต่างประเทศ
2-การเลี้ยงห่านเนื้อ เพื่อขุนขาย สำหรับเป็นอาหารตามร้านอาหารและภัตตาคาร หรือใช้ในเทศกาลตรุษจีน สาร์ทจีน

วิธีการเริ่มต้นเลี้ยงห่าน สามารถทำได้ 2 วิธีคือ

1- ซื้อไข่มาฟักเอง ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและต้องรู้จักวิธีการฟักไข่
2- ซื้อลูกห่านมาเลี้ยง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกกว่า


ดลรวี ภัทรกุลพิมล
อาสาปศุสัตว์ดีด่น ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร
Website : https://www.anragon.com/
Facebook : https://www.Facebook.com/LivestockNJ
Youtube :  https://goo.gl/F6d8A4


https://www.anragon.com/2020/06/ep2-teaching-geese-raising-economy.html